วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มอ-ระ-ดก

มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดซึ่งผู้ตายหรือที่อาจเรียกกันว่าเจ้ามรดกมีอยู่ในขณะที่สิ้นชีวิต ยังหมายรวมถึงหนี้สินใดๆด้วย มรดกจักตกทอดไปสู่ทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกทันทีที่เขาสิ้นชีวิตอันเป็นไปตามหลักกฎหมาย ณ ที่นี้จักกล่าวถึงสัดส่วนที่เหล่าทายาทของผู้ตายพึงได้รับตามหลักการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ถูกต้อง(ที่มา-วิกิพีเดีย)

การแบ่งมรดก

มีขึ้นเพื่อความสงบสุขของสังคมผู้ปกครองบ้านเมืองจึงออกกฎหมายมาจัดการแบ่งปันทรัพย์สินของเราแก่เหล่าทายาท อันได้แก่ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรธิดา เป็นต้น หลายคนเข้าใจว่าทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งเป็นชื่อของผู้ตายถือเป็นกรรมสิทธิ์ไว้ในเวลาที่สิ้นชีวิต จะต้องนำมาแบ่งสรรกันตามจำนวนทายาทของเขา

นั่นเป็นความเข้าใจซึ่งถูกเพียงส่วนเดียว

นอกจากทรัพย์สินแล้วยังรวมถึงหนี้สินของเจ้ามรดกซึ่งมีอยู่ก่อนตาย

ทายาทต้องรับไปด้วย แต่จะใช้หนี้แก่เจ้าหนี้เท่าที่ตนได้รับทรัพย์มรดกมาเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีหนี้สิน 100 บาท ทายาทรับมรดกมา 90 บาท เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากทายาทแทนเจ้ามรดกเพียง 90 บาท ส่วนอีก 10 บาทตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป ส่วนหลักการแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่บุคคลธรรมดาคิดไว้นัก

ตัวอย่างให้คิดง่ายๆดังนี้คือ ผู้ตายหรือเจ้ามรดกมีทรัพย์สิน 100 บาท โดยมีทายาทตามกฎหมาย คือ ภรรยา (ที่จดทะเบียนสมรส) และ บุตรธิดารวม 2 คน ตอนนี้ก็มาถึงวิธีแบ่งปันทรัพย์มรดกจำนวน 100 บาท เริ่มต้นด้วยหลักกฎหมายกำหนดให้สินส่วนตัวของผู้ตายเท่านั้นที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งนำมาแบ่งกับทายาทได้ ทรัพย์สินของผู้ตาย ณ เวลาสิ้นชีวิตจำนวน 100 บาท

ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสซึ่งเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างสามีภรรยา จึงต้องมีการแบ่งกันก่อน โดยแต่ละฝ่ายจักได้สิทธิในเงินก้อนนี้ครึ่งหนึ่ง

นั่นหมายความว่าคู่สมรสของผู้ตายจักได้เงิน 50 บาทไปก่อนตามสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย

จากนั้นเงิน 50 บาทที่เป็นของผู้ตายจะนำมาแบ่งปันกับเหล่าทายาทของเขาอันได้แก่ ภรรยา (ต้องมีทะเบียนสมรส) และบุตรธิดารวม 2 คน ตามที่ตัวอย่างระบุไว้ ณ จุดนี้กฎหมายกำหนดให้ทายาทแต่ละคนได้หนึ่งส่วน ดังนั้นเงิน 50 บาทของผู้ตายจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ซึ่งถือเป็นมรดกของทายาทที่พึงได้รับไป

เราจักสังเกตเห็นว่าภรรยานั้นดูจะได้สัดส่วนมาก นี่แหละคือ ประโยชน์ของภรรยาที่มีทะเบียนสมรสซึ่งสังคมพยายามรณรงค์ให้หญิงสาวพึงเรียกร้องจากผู้ชายที่คิดจะร่วมชีวิตด้วย สังคมคุ้มครองผู้อยู่ใต้กฎหมายเสมอ หวังว่าสตรีทั้งหลายพึงเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ที่สังคมมอบให้ท่าน กอปรกับได้เข้าใจถึงวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างถูกต้องด้วย

...........................................................
จากตัวอย่างที่ยกมาให้อ่านด้านบนนี้ จะเห็นแล้วว่า การเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดที่ผู้หญิงทุกคนต้องการ ไม่ได้จะหวังเพียงว่าหลังจากสามีตายแล้วจะได้สมบัติแต่อย่างใด  แต่เป็นสิ่งที่สังคม เห็นดีเห็นงามให้ปฎิบัติเพื่อความสงบสุข.....(หนุ่มๆอ่านแล้วปฏิบัติให้ได้นะคะ)